วันอาทิตย์ที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556


ลักษณะของคำไทยแท้

๑.คำไทยมักเป็นคำพยางค์เดียว
ภาษาไทยจัดอยู่ในตระกูลภาษาคำโดด (Isolating Language) หรือคำพยางค์เดียวโดดๆ (Monosyllabic Language) ลักษณะของคำโดดนั้น ส่วนมากมักเป็นคำพยางค์เดียวโดยพิจารณาจากคำดังเดืม หรือคำพื้นฐานของภาษาอันได้แก่ ถ้อยคำที่มนุษย์ใช้กันเป็นประจำมักเป็นคำที่ใช้เรียกสิ่งต่างๆ อันได้แก่ คำนาม และคำกริยาที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์หรือคำขยายที่ใช้ธรรมดาสามัญทั่วๆไป
๒.ภาษาไทยที่มีระบบเสียงสูงต่ำ
ภาษาไทยที่มีระบบเสียงสูงต่ำ ภาษาไทยเป็นภาษาที่มีลักษณะเหมือนเสียงดนตรี วรรณยุกต์จึงมีประโยชน์แล้วจำเป็นในภาษาไทยมาก เพราะคำเดียวกัน ถ้าออกเสียงวรรณยุกต์ผิดไป ระดับเสียงก็ผิดไป ความหมายก็ผิดไปด้วย
๓.คำไทยแท้มักใช้ตัวสะกดตรงตามมาตรา
เช่น คำว่า กาบ กบ กด แต่คำที่มากจากภาษาอื่นมักใช้ตัวสะกดอื่นได้ต่างๆกันเช่น กาญจน์ การณ์ การ การย์ กานท์ กาล กาฬ เป็นต้น หรือบางทีก็จะเป็นตัวควบกล้ำกัน ซึ่งไม่ใช้ลักษณะของคำไทย ดังจะจำแนกสะกดแม่ต่างๆดังนี้
๓.๑ แม่ กก คำไทยแท้ ก สะกด เช่น นก จาก มาก ปาก แต่บางครั้งการที่มี ก เป็นตัวสะกดก็อาจมิใช่คำไทยแท้ เช่น โลก (บาลี) โคก (เขมร)
แม่ กก ที่ใช้ตัว ก สะกด และมีตัว ร ควบกล้ำ มากจากภาษาสันสกฤต เช่น จักร
แม่ กก ที่ใช้ตัว ก สะกด และมีตัว ข การันต์ มาจากภาษาบาลี เช่น ทุกข์
ตัวสะกดในแม่ กก ถ้าสะกดด้วยพยัณชนะตัวอื่น แสดงว่ามาจากภาษาอื่น เช่น
ข สะกด ได้แก่ สุข มุข เมขลา สุนัข
ค สะกด ได้แก่ ราค มาร วิหค
ค สะกด มีร ควบกล้ำ มาจากภาษาสันสกฤษ เช่น อัคร
ฆ สะกดได้แก่ เมฆ มัฆวาน
๓.๒  แม่กด คำไทยแท้ใช้ ด สะกด เช่น รด ลด มด จด สด
ตัวสะกดในแม่กดถ้ากดด้วยพยํญชนะตัวอื่น แสดงว่ามาจากภาษาอื่น เช่น
จ สะกด ได้แก่ กาจ อาจ อำนาจ เวจ อนิจจา อัจฉรา
ช สะกด ได้แก่ ราช คช อนุช มัชฌิม อาชญา
ซ สะกด ได้แก่ ก๊าซ
ฎ สะกด ได้แก่ กฎ มงกุฎ
ฏ สะกด ได้แก่  ปรากฏ กูฏ
ฐ สะกด ได้แก่ รัฐ อิฐ ประเสริฐ
ฑ สะกด ได้แก่ ครุฑ
ฒ สะกด ได้แก่ อัฒจันทร์ วัฒนธรรม
ต สะกด ได้แก่ รัตน์ หัตถ์ สัตย์
ถ สะกด ได้แก่ รถ อรรถ ปารถนา สามารถ
ท สะกด ได้แก่ บท บาท นาท สัทธา
ธ สะกด ได้แก่ อรรธ วรรธนะ
ศ สะกด ได้แก่ อากาศ มาศ อัศว์ ลีลาศ
ษ สะกด ได้แก่ พิษณุ กฤษณา พิษ
ส สะกด ได้แก่ โอกาส วาสนา ศาสนา
๓.๓ แม่ กบ คำไทยแท้ใช้ บ สะกด เช่น กบ จบ สบ พบ บางครั้งมีตัว บ เป็นตัวสะกดก็อาจมิใช่คำไทยแท้ เช่น สาบ สดับ(เขมร) ตัวสะกดในแม่ กบ ถ้าสะกดด้วยพยัญชนะตัวอื่นแสดงว่ามากจาภาษาอื่น เช่น
ป สะกด สัปดาห์ กัป
พ สะกด ได้แก่ ลัพธ์ ราพณ์
ฟ สะกด ได้แก่ กราฟ ออฟฟิศ ยีราฟ
ภ สะกด ได้แก่ ลาภ ปรารภ
๓.๔แม่ กง คำไทยแท้ใช้ ง สะกด เช่น กง คง จง วง ลง บางครั้ง ง เป็นตัวสะกดก็อาจมิใช่คำไทยแท้ เช่น โพงพาง (จีน) วังเวง (เขมร) ถ้ามีตัวสะกดการันต์เป็นคำที่มาจากภาษาอื่น เช่น องค์ องก์ สงฆ์ ชงฆ์ อานิสงส์ เป็นภาษาบาลี เป็นต้น
๓.๕ แม่ กน คำไทยแท้ใช้ น สะกด เช่น คน จน สน ต้น สัน ก้าน บางครั้งมี น สะกด ก็อาจมิใช่คำไทยแท้เช่น ตงฉิน (จีน) หุ้น(จีน) ถ้าสะด้วยพยัญชนะตัวอื่นแสดงว่ามาจากภาษาอื่น เช่น
ญ สะกด ได้แก่ กาญจน์ กัญชา เจริญ
ณ สะกด ได้แก่ รณรงค์ สัณฑ์ กัณฑ์
ร สะกด ได้แก่ พร จร อาจารย์ การ การน์ การณ์
ล สะกด ได้แก่ กาล บาล มลทิน ทูล
ฬ สะกด ได้แก่ กาฬ วาฬ
คำที่สะกดด้วย น และไม่มีตัวการันต์ที่ไม่ใช่คำไทยแท้ก็มี ได้แก่ ทิน เป็นภาษาบาลี แปลว่า วัน (อ่านว่า ทิ – นะ) เมื่อไทยรับมาใช้อ่านว่าทิน ตัว น จึงกลายเป็นตัวสะกดในคำไทยไปหรือคำว่า วัน ที่มาจาก วน (อ่านว่า วะ-นะ) แปลว่า ป่า เรานำมาใช้โดนให้ น เป็นตัวสะกดจึงเป็นวัน เป็นต้น
๓.๖ แม่ กม คำไทยใช้ ม สะกด เช่น คม สม ผม ชม จาม สาม บางครั้งทีตัว ม สะกดก็อาจมิใช้คำไทยแท้ เช่น โดม (เขมร) บังคม พนม (เขมร) ถ้ามีตัวการันต์เป็นคำที่มาจากภาษาอื่น เช่น ปรารมภ์ สดมภ์ เป็นภาษาสันสกฤต เป็นต้น
๓.๗ แม่ เกย คำไทยแท้ใช้ ย สะกด เช่น ชาย คาย จ่าย เลย เป็นต้น ที่มมาจากภาษาอื่นก็มี เช่น ภาษาเขมร ได้แก่ เกย เขนย นาย เป็นต้น
ภาษาบาลีสันกฤต ได้แก่ กาย(ภาษาบาลีสันสกฤต อ่านว่า กา-ยะ เมื่อนำมาใช้ในภาษาไทยใช้ ย เป็นตัวสะกด อ่านว่า กาย)
๓.๘ แม่ เกอว คำไทยแท้ ใช้ ว สะกด เช่น ชาว กาว ราว หวิว เป็นต้น ถ้ามีตัวการันต์จะไม่ใช่คำไทย เช่น เชาวน์ เยาว์
๔.คำไทยแท้ที่ไม่มีตัวการันต์
คำไทยแท้จะสะกดตรงตามตัวไม่มีการันย์ เช่น
ลิน นั้น กัน วาน เป็นต้น ดังนั้นคำที่มีการันต์จึงเป็นคำที่มาจากภาษาอื่น เช่น
๔.๑คำที่มาจากภาษาบาลี ได้แก่ องค์ สงฆ์ ทุกข์
๔.๒ คำที่มาจากภาษาสันสกฤต ได้แก่ ศิลป์ จันทร์ อินทร์
๔.๓ คำที่มาจากภาษาอังกฤษได้แก่ ฟิล์ม ชอล์ก สไตล์
๕.คำไทยแท้มักจะไม่ใช้รูปพยัญชนะ ฆ ญ ฎ ฏ ฐ ฑ ธ ฒ ณ ศ ษ
ยกเว้นคำ รัง ฆ่า เฆี่ยน เฒ่า ณ ธ เศิก ศอก หญ้า หญิง เป็นต้นที่เป็นคำไทยแท้
๖.คำไทยแท้มักเป็นคำเดียวซึ่งมีความหมายในตัวเอง
คำไทยทำหน้าที่หลายอย่างหมายความว่า คำคำเดียวมีหลายความหมายใช้ได้หลายหน้าทีโดยไม่ต้องเปลี่ยนแปลงรูปคำเหมือ ยภาษาในตระกูลภาษามีวิภัตติปัจจัย เราจะรู้ความหมายและหน้าที่ได้ก็ด้วยดูตำแหน่งในประโยค เช่น คำว่า ฟัน เป็นกริยาก็ได้ เป็นคำนามก็ได้ เช่น
เขาฟันต้นไม้ “ฟัน” ในประโยคนี้เป็นคำกริยา
ฟันของฉันหัก “ฟัน” ในประโยคนี้เป็นคำนาม
คำว่า ขัน ก็ เช่นเดียวกัน ถ้าอยู่โดดๆ ลอยๆ อยู่คำเดียว เราไม่สามารถบอกหน้าที่ของคำนี้ได้ เพราะขัน เป็นได้ทั้งคำนาม คำกริยา และคำวิเศษณ์ เรารู้หน้าที่และความหมายของคำนี้ได้ ก็โดยการเข้าประโยค
“ขัน” ที่เป็นคำนาม เช่น ขัน / ลอยอยู่ในตุ่ม
“ขัน” ที่เป็นคำกริยา เช่น ไก่ / ขัน / แต่เช้าตรู่
“ขัน” ที่เป็นคำวิเศษณ์ เช่น เขามักจะพูดอะไร / ขัน ๆ / เสมอ

วันเสาร์ที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

มหาเวสสันดรชาดก


มหาเวสสันดรชาดก

 มหาชาติ  เป็นชาติที่ยิ่งใหญ่ของพระโพธิสัตว์ที่ได้เสวยพระชาติเป็นพระเวสสันดรและเป็นพระชาติสุดท้ายก่อนจะตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  คนไทยรู้จักและคุ้ยเคยกับมหาชาติมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย  ดังที่ปรากฏในหลักฐานในจารึกนครชุม  และในสมัยอยุธยาก็ได้มีการแต่งและสวดมหาชาติคำหลวงในวันธรรมสวนะ  ส่วนการเทศน์มหาชาติเป็นประเพณีที่สำคัญในทุกท้องถิ่นและมีความเชื่อกันว่า  การฟังเทศน์มหาชาติจบภายในวันเดียวจะได้รับอานิสงส์มาก
ผู้แต่ง
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า  กรมพระปรมานุชิตชิโนรส
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
กวีสำนักวัดถนน
กวีวัดสังขจาย
พระเทพโมลี (กลิ่น)
เจ้าพระยาพระคลัง (หน)
ลักษณะคำประพันธ์
ความเรียงร้อยแก้ว  ร่ายยาว  กลบท  กลอนพื้นบ้าน
จุดมุ่งหมายในการแต่ง
เพื่อใช้ในการสวด  เทศนาสั่งสอน
ความเป็นมา
เวสสันดรชาดกนี้เป็นเรื่องใหญ่จัดรวมไว้ในมหานิบาตชาดกรวมเรื่องใหญ่ 10 เรื่อง
ที่เรียกกันว่า  ทศชาติ  แต่อีก 9 เรื่อง  ไม่เรียกว่ามหาชาติ  คงเรียกแต่เวสสันดรชาดก
เรื่องเดียวว่า  มหาชาติ  ข้อนี้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ
โปรดประทานอธิบายว่า  พุทธศาสนิกชนชาวไทยตลอดจนประเทศใกล้เคียงนับถือกันมาแต่โบราณว่า
เรื่องมหาเวสสันดรชาดก  สำคัญกว่าชาดกอื่น ๆ ด้วยปรากฏบารมีของพระโพธิสัตว์บริบูรณ์
ในเรื่องมหาเวสสันดรชาดกทั้ง 10 บารมี
                 

          อานิสงส์การฟังเทศน์มหาชาติ  การตั้งใจฟังเทศน์มหาชาติให้จบเพียงวันเดียวครบบริบูรณ์  ทั้ง 13 กัณฑ์จะเป็นเหตุให้สำเร็จความปรารถนาทุกประการดังนี้
          1.  เมื่อตายจากโลกนี้แล้ว  จะมีโอกาสได้พบพระพุทธเจ้า  พระนามว่า  ศรีอริยเมตไตย  ในอนาคต
          2.  เมื่อดับขันธ์ไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์  จะเสวยทิพยสมบัติมโหฬาร
          3.  เมื่อตายไปแล้วจะไม่ตกนรก
          4.  เมื่อถึงยุคพระพุทธเจ้าพระนามว่า  ศรีอริยเมตไตย  จะได้จุติไปเกิดเป็นมนุษย์
          5.  ได้ฟังธรรมต่อหน้าพระพักตร์ของพระพุทธองค์  จะได้ดวงตาเห็นธรรมเป็นพระอริยบุคคล  ในบวรพุทธศาสนา
มูลเหตุการณ์เล่าเรื่องมหาชาติ
          คัมภีร์ธัมมบทขุททกนิกายกล่าวว่า  เรื่องเวสสันดรชาดกเป็นพุทธดำรัสที่สมเด็จพระบรมศาสดาตรัสแก่ภิกษุสงฆ์ขีณาสพสองหมื่นรูป  และพระประยูรญาติที่นิโครธารามหาวิหารในนครกบิลพัสดุ์  ในคราวเสด็จโปรดพระเจ้าสุทโธทนะพุทธบิดา  และพระวงศ์ศากยะบรรดาพระประยูรญาติไม่ปรารถนาจะทำความเคารพพระองค์  ด้วยเห็นว่าอายุน้อยกว่า
          พระองค์ทรงทราบความคิดนี้จึงทรงแสดงยมกปกฏิหาริย์  โดยเสด็จขึ้นเบื้องนภาอากาศแล้วปล่อยให้ฝุ่นละอองธุลีพระบาทตกลงสู่เศียรของพระประยูรญาติทั้งหลาย  พระประยูรญาติจึงได้ละทิ้งทิฐิแล้วถวายบังคมพระพุทธเจ้า  ขณะนั้นได้เกิดฝนโบกขรพรรษ  พระภิกษุทั้งหลายเห็นเป็นอัศจรรย์จึงได้ทูลถาม  พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่าฝนชนิดนี้เคยตกมาแล้วในอดีต  แล้วจึงทรงแสดงธรรมเรื่องมหาเวสสันดรชาดก  หรือเรื่องมหาชาติให้แก่พระภิกษุและพระประยูรญาติ
          มหาเวชสันดรชาดก  เป็นชาดกที่มีความสำคัญมากกว่าชาดกอื่น ๆ เพราะพระบารมีของพระโพธิสัตว์ได้บำเพ็ญบริบูรณ์ในพระชาตินี้  มหาเวสสันดรชาดกทั้ง 10 บารมี  คือ

ทานบารมี  = ทรงบริจาคทรัพย์สิน  ช้าง  ม้า  ราชรถ  พระกุมารทั้งสองและพระมเหสี
ศีลบารมี  = ทรงรักษาศีลอย่างเคร่งครัดระหว่างทรงผนวชอยู่ ณ เขาวงกต
เนกขัมมบารมี  = ทรงครองเพศบรรพชิตตลอดเวลาที่ประทับ ณ เขาวงกต
ปัญญาบารมี  = ทรงบำเพ็ญภาวนามัยปัญญาตลอดเวลาที่ทรงผนวช
วิริยาบารมี  = ทรงปฏิบัติมิได้ย่อหย่อน
สัจจบารมี  = ทรงลั่นพระวาจายกกุมารให้ชูชก  เมื่อพระกุมารหลบหนีก็ทรงติดตามให้
ขันติบารมี  = ทรงอดทนต่อความยากลำบากต่าง ๆ ขณะที่เดินทางมายังเขาวงกต  และตลอดเวลาที่ประทับ ณ ที่นั่น  แม้แต่ตอนที่ทอดพระเนตรเห็นชูชกเฆี่ยนตีพระกุมารอย่างทารุณพระองค์ก็ทรงข่มพระทัยไว้ได้
เมตตาบารมี  = เมื่อพราหมณ์เมืองกลิงคราษฎร์  มาทูลขอช้างปัจจัยนาค  เนื่องจากเมืองกลิงคราษฎร์ฝนแล้ง  ก็ทรงพระเมตตตาประทานให้  และเมื่อชูชกมาทูลขอสองกุมาร  อ้างว่าตนได้รับความลำบากต่าง ๆ พระองค์ก็มีเมตตาประทานให้ด้วย
อุเบกขาบารมี  = เมื่อทรงเห็นสองกุมารถูกชูชกเฆี่ยนตี  วิงวอนให้พระองค์ช่วยเหลือ  ทรงบำเพ็ญอุเบกขา  คือทรงวางเฉย  เพราะทรงเห็นว่าได้ประทานเป็นสิทธิ์ขาดแก่ชูชกไปแล้ว
อธิษฐานบารมี  = คือทรงตั้งมั่นที่จะบำเพ็ญบารมีเพื่อให้สำเร็จโพธิญาณาเบื้องหน้าก็มิได้ทรงย่อท้อ  จนพระอินทร์ต้องประทานความช่วยเหลือต่าง ๆ เพราะพระทัยอันแน่วแน่ของพระองค์

เนื้อเรื่อง
          หลังจากสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงยมกปาฏิหารย์  ทำให้พระประยูรญาติละทิฐิยอมถวายบังคม  ก็บังเกิดฝนโบกขรพรรษ  พระภิกษุทั้งหลายจึงได้ทูลถามพระพุทธเจ้า  พระพุทธองค์ตรัสเล่าว่า  ฝนชนิดนี้เคยตกมาแล้วในอดีต  พระองค์จึงทรงแสดงธรรมเรื่องมหาเวสสันดรชาดก   หรือเรื่องมหาชาติ  ทั้ง 13 กัณฑ์  ตามลำดับ  ดังนี้          กัณฑ์ที่ 1 ทศพรา  พระอินทร์ประสาทพรแก่พระนางผุสดี  ก่อนที่จะจุติลงมาเป็นพระราชมารดาของพระเวสสันดร  แต่ปางก่อนนั้นผุสดีเทวีเสวยชาติเป็นอัครมเหสีของพระอินทร์  เมื่อจะสิ้นพระชนมายุจึงขอกัณฑ์ทศพรจากพระอินทร์ได้ 10 ประการ  ทั้งยังเคยโปรยผงจันทร์แดง  ถวายพระวิปัสสีพุทธเจ้าและอธิฐานให้ได้เกิดเป็นมารดาพระพุทธเจ้าด้วย พร 10 ประการนั้นมีดังนี้
1.  ขอให้เกิดในกรุงมัททราช  แคว้นสีพี
2.  ขอให้มีดวงเนตรคมงามและดำขลับดั่งลูกเนื้อทราย
3.  ขอให้คิ้วคมขำดั่งสร้อยคอนกยูง
4.  ขอให้ได้นาม "ผุสดี" ดังภพเดิม
5.  ขอให้พระโอรสเกริกเกียรติที่สุดในชมพูทวีป
6.  ขอให้พระครรภ์งาม  ไม่ป่องนูนดั่งสตรีสามัญ
7.  ขอให้พระถันเปล่งปลั่งงดงามไม่ยานคล้อยลง
8.  ขอให้เส้นพระเกศาดำขลับตลอดชาติ
9.  ขอให้ผิวพรรณละเอียดบริสุทธิ์ดุจทองคำธรรมชาติ
10. ขอให้ได้ปลดปล่อยนักโทษที่ต้องอาญาประหารได้
          กัณฑ์ที่ 2 หิมพานต์  พระนางผุสดีจุติลงมาเป็นราชธิดาของพระเจ้ามัททราช  เมื่อเจริญชนม์ได้ 16 ชันษา  จึงได้อภิเษกสมรสกับพระเจ้ากรุงสญชัยแห่งสีวิรัฐนคร  ต่อมาได้ประสูติพระโอรสนามว่า "เวสสันดร"  ในวันที่ประสูตินั้นได้มีนางช้างฉันททันต์ตกลูกเป็นช้างเผือกขาวบริสุทธิ์จึงได้นำมาไว้ในโรงช้างต้นคู่บารมี ให้นามว่า "ปัจจัยนาค"  เมื่อพระเวสสันดรเจริญชนม์ 16 พรรษา  พระราชบิดาก็ยกราชสมบัติให้ครอบครองและทรงอภิเษกกับนางมัทรี  พระราชธิดาราชวงศ์มัททราช  มีพระโอรสชื่อ  ชาลี  พระธิดาชื่อกัณหา  พระองค์ได้สร้างโรงทาน  บริจาคทานแก่ผู้เข็ญใจ  ต่อมาพระจ้ากาลิงคะแห่งนครกลิงคราษฎร์  ได้ส่งพราหมณ์มาขอพระราชทานช้างปัจจัยนาคเพื่อให้ฝนตกในบ้านเมืองที่แห้งแล้งกันดาร  พระองค์จึงพระราชทานช้างปัจจัยนาคให้แก่พระเจ้ากาลิงคะ  ชาวกรุงสัญชัยไม่พอใจที่พระราชทานช้างคู่บ้านคู่เมืองไป  จึงเนรเทศพระเวสสันดรออกนอกพระนคร
          กัณฑ์ที่ 3 ทานกัณฑ์  พระเวสสันดรทรงมหาสัตตสดกทาน  คือ  การแจกทานครั้งยิ่งใหญ่ก่อนที่พระเวสสันดรพร้อมด้วยพระนางมัทรี  ชาลีและกัณหาออกจากพระนคร  จึงทูลขอพระราชทานโอกาสบำเพ็ญมหาสัตตสดกทาน  คือ  การให้ทานครั้งยิ่งใหญ่  อันได้แก่  ช้าง  ม้า  รถ  โคนม  นารี  ทาสี  ทาสา  รวมทั้งสุราบาน  อย่างละ 700
          กัณฑ์ที่ 4 วนประเวศน์  เป็นกัณฑ์ที่สี่กษัตริย์เดินทางสู่เขาวงกต  เมื่อเดินทางถึงนครเจตราชทั้งสี่กษัตริย์จึงแวะเข้าประทับหน้าศาลาพระนคร  กษัตริย์ผู้ครองนครเจตราชจึงทูลเสด็จครองเมือง  แต่พระเวสสันดรทรงปฏิบัติ  กษัตริย์เจตราชจึงมอบหมายให้พรานเจตบุตรผู้มีความเชี่ยวชาญชำนาญป่าเป็นผู้รักษาประตูป่าไม้  กษัตริย์ทั้ง 4 พระองค์ปลอดภัย  และเมื่อเสด็จถึงเขาวงกตได้พบอาศรม  ซึ่งท้าววิษณุกรรมเนรมิตตามพระบัญชาของพระอินทร์  กษัตริย์ทั้งสี่จึงทรงผนวชเป็นฤาษีพำนักในอาศรมสืบมา
          กัณฑ์ที่ 5 ชูชก  ในแคว้นกาลิงคะมีพราหมณ์แก่ชื่อชูชกพำนักในบ้านทุนวิฐะเที่ยวขอทานตามเมืองต่าง ๆ เมื่อได้เงินถึง 100 กหาปณะ  จึงนำไปฝากไว้กับพราหมณ์ผัวเมียแล้วออกเดินทางขอทานต่อไป  เมื่อเห็นว่าชูชกหายไปนานจึงได้นำเงินไปใช้เป็นการส่วนตัว  เมื่อชูชกเดินทางมาทวงเงินคืนจึงยกนางอมิตดาลูกสาวให้แก่ชูกชก  นางอมิตดาเมื่อมาอยู่ร่วมกับชูชกได้ทำหน้าที่ของภรรยาที่ดี  ทำให้ชายในหมู่บ้านเปรียบเทียบกับภรรยาของตน  หญิงในหมู่บ้านจึงเกลียดชังและรุมทำร้ายทุบตีนางอมิตดา  ชูชกจึงเดินทางไปทูลขอกัณหาชาลีเพื่อมาเป็นทาสรับใช้  เมื่อเดินทางมาถึงเขาวงกตก็ถูกขัดขวางจากพรานเจตบุตรผู้รักษาประตูป่า
          กัณฑ์ที่ 6 จุลพน  พรานเจตบุตรหลงกลชูชก  ที่ได้ชูกลักพริกขิงให้พรานดู  อ้างว่าเป็นพระราชสาสน์ของพระเจ้ากรุงสญชัยจะนำไปถวายพระเวสสันดร  พรานเจตบุตรจึงต้อนรับและเลี้ยงดูชูชกเป็นอย่างดีและได้พาไปยังต้นทางที่จะไปอาศรมฤาษี
          กัณฑ์ที่ 7 มหาพน  เมื่อถึงอาศรมได้พบกับอจุตฤาษี  ชูกชกใช้คารมหลอกล่อจนอจุตฤาษีให้ที่พักหนึ่งคืนและบอกเส้นทางไปยังอาศรมพระเวสสันดร  พร้อมพรรณนาหมู่สัตว์และพรรณไม้ตามเส้นทางให้ชูชกฟัง
          กัณฑ์ที่ 8 กัณฑ์กุมาร  เป็นกัณฑ์ที่พระเวสสันดรทรงให้ทานสองโอรสแก่เฒ่าชูชก  พระนางมัทรีฝันร้ายเหมือนบอกเหตุแห่งการพลัดพราก  รุ่งเช้าเมื่อพระนางมัทรีเข้าป่าหาอาหารแล้ว  ชูชกจึงเข้าเฝ้าทูลขอสองกุมาร  สองกุมารลงไปซ่อนตัวอยู่ที่สระ  พระเวสสันดรจึงเสด็จติดตามหาสองกุมารแล้วมอบให้แก่ชูชก
          กัณฑ์ที่ 9 กัณฑ์มัทรี  พระนางมัทรีเดินเข้าไปหาผลไม้ในป่าลึกจนคล้อยเย็นจึงเดนทางกลับอาศรม  แต่มีเทวดาแปลงกายเป็นเสือนอนขวางทางจนค่ำ  เมื่อกลับถึงอาศรมไม่พบโอรสธิดาและพระเวสสันดรได้กล่าวว่านางนอกใจ  พระนางมัทรีจึงออกเที่ยวหาโอรสธิดาและกลับมาสิ้นสติต่อเบื้องพระพักตร์  พระองค์ทรงตกพรทัยลืมตนว่าเป็นดาบสจึงทรงเข้าอุ้มพระนางมัทรีและทรงกันแสง  เมื่อพระนางมัทรีฟื้นจึงถวายบังคมประทานโทษ  พระเวสสันดรจึงบอกความจริงว่าได้ประทานโอรสธิดาแก่ชูชกแล้ว  หากชีวิตไม่สิ้นคงจะได้พบกัน  พระนางมัทรีจึงได้ทรงอนุโมทนาในปิยบุตรทานนั้น
          กัณฑ์ที่ 10 สักรบรรพ  พระอินทร์เกรงว่าพระเวสสันดรจะประทานพระนางมัทรีให้แก่ผู้ที่มาขอ  จึงแปลเป็นพราหมณ์เพื่อมาทูลขอพระนางมัทรี  พระเวสสันดรจึงประทานให้พระนางมัทรีก็ยินดีอนุโมทนาเพื่อร่วมทานบารมีให้สำเร็จพระสัมโพธิญาณ  เป็นเหตุให้เกิดแผ่นดินไหวสะท้าน  พระอินทร์ในร่างพราหมณ์จึงฝากพระนางมัทรีไว้ยังไม่รับไป  แล้วตรัสบอกความจริงและถวายคืนพร้อมถวายพระพร 8 ประการ
          กัณฑ์ที่ 11 มหาราช  เมื่อเดินทางผ่านป่าใหญ่ชูชกจะผูกสองกุมารไว้ที่โคนต้นไม้  ส่วนตนเองปีนขึ้นไปนอนต้นไม้  เหล่าเทพเทวดาจึงแปลงร่างลงมาปกป้องสองกุมารจนเดินทางถึงกรุงสีพี  พระเจ้ากรุงสีพีเกิดนิมิตฝันตามคำทำนายนั้นนำมายังความปีติปราโมทย์  เมื่อเสด็จลงหน้าลานหลวงตอนรุ่งเช้า  ทอดพระเนตรเห็นชูชกและกุมารทั้งสองพระองค์  ทรงทราบความจริงจึงพระราชทานค่าไถ่คืน  ต่อมาชูชกก็ถึงแก่ความตายเพราะกินอาหารมากเกินขนาดจนไม่ย่อย  พระชาลีจึงได้ทูลขอให้ไปรับพระบิดาพระมารดานิวัติพระนคร  ในขณะเดียวกันเจ้านครลิงคราษฏร์ได้คืนช้างปัจจัยนาคแก่นครสีพี
          กัณฑ์ที่ 12 ฉกษัตริย์  พระเจ้ากรุงสญชัยใช้เวลา 1 เดือน กับ 23 วัน  จึงเดินทางถึงเขาวงกต  เสียงโห่ร้องของทหารทั้ง 4  เหล่า  ทำให้พระเวสสันดรทรงคิดว่าเป็นข้าศึกมาโจมจีนครสีพี  จึงชวนพระนางมัทรีขึ้นไปแอบดูที่ยอดเขา  พระนางมัทรีทรงมองเห็นกองทัพพระราชบิดาจึงได้ตรัสทูลพระเวสสันดร  และเมื่อทั้งหกกษัตริย์ได้พบกันทรงกันแสงสุดประมาณ  รวมทั้งทหารเหล่าทัพทำให้ป่าใหญ่สนั่นครั่นครืน  พระอินทร์จึงได้ทรงบันดาลให้ฝนโบกขรพรรษตกลงมาประพรมกษัตริย์ให้หายเศร้าโศกและฟื้นพระองค์
          กัณฑ์ที่ 13 นครกัณฑ์  พระเจ้ากรุงสญชัยตรัสสารภาพผิด  พระเวสสันดรจึงทรงลาผนวชพร้อมทั้งพระนางมัทรี  และเสด็จกลับสู่สีพีนคร  เมื่อเสด็จถึงจึงรับสั่งให้ชาวเมืองปล่อยสัตว์ที่กักขัง  ครั้นยามราตรีพระเวสสันดรทรงปริวิตกว่า  รุ่งเช้าประชาชนจะแตกตื่นมารับบริจาคทาน  พระองค์จะประทานสิ่งใดให้แก่ประชาชน  ท้าวโกสีย์ได้ทราบจึงบันดาลให้มีฝนแก้ว 7 ประการ  ตกลงมาในนครสีพีสูงถึงหน้าแข้ง  พระเวสสันดรจึงทรงประกาศให้ประชาชนมาขนเอาไปตามปรารถนา  ที่เหลือให้ขนเข้าพระคลังหลวง
ในกาลต่อมาพระเวสสันดรเถลิงราชสมบัติปกครองนครสีพีโดยทศพิธราชธรรม  บ้านเมืองร่มเย็นเป็นสุขตลอดพระชนมายุ
คำศัพท์
กรุงกบิลพัสดุ์  =  ชื่อเมืองหลวงของแคล้นสักกะ  เป็นเมืองของพระเจ้าสุทโธทนะพระราชบิดาของเจ้าชายสิทธัตถะ  ปัจจุบันอยู่ในเขตประเทศเนปาล  ติดชายแดนตอนเหนือของประเทศอินเดีย
คาถาพัน  =  บทประพันธ์เรื่องมหาเวสสันดรชาดกที่แต่งเป็นภาษาบาลีล้วน ๆ พันบท  เรียกการเทศน์มหาเวสสันดรชาดกที่เป็นคาถาล้วน ๆ อย่างนี้ว่า  เทศน์คาถาพัน
จุติ  =  เคลื่อน  เปลี่ยนสภาพจากกำเนิดหนึ่งไปเป็นอีกกำเนิดหนึ่ง  มักใช้แก่เทวดา
ดาวดึงส์สวรรค์  =  ชื่อสวรรค์ชั้นที่ 2 แห่งสวรรค์ 6 ชั้น  มีพระอินทร์เป็นผู้ครอง
ทศบารมี  =  บารมี 10 ประการ  ได้แก่  ทาน  ศีล  เนกขัมมะ  ปัญญา  วิริยะ  ขันติ  สัจจะ  อธิษฐาน  เมตตา  อุเบกขา
เนรเทศ  =  บังคับให้ออกไปเสียจากประเทศหรือถิ่นที่อยู่ของตน
บุตรทารทาน  =  การให้ทานโดยสละบุตรและภรรยา (ทาร)
ปิยบุตรทาน  =  ให้ลูกรักเป็นทาน
ฝนโบกขรพรรษ  =  ฝนที่มีสีแดง  ฝนชนิดนี้กล่าวไว้ว่าใครอยากจะให้เปียก  ก็เปียก  ถ้าไม่อยากให้เปียกก็ไม่เปียก  เหมือนน้ำตกลงบนใบบัว
พิสดาร  =  กว้างขวาง  ละเอียดลออ  (ใช้แก่เนื้อความ)  แปลก  พิลึก (ปาก)
มหาชาติ  =  เรียกเวสสันดรชาดกว่า  มหาชาติ  การเทศน์เรื่องมหาเวสสันดรชาดกเรียกว่า  เทศน์มหาชาติ
ยมกปฏิหาริย์  =  ปาฏิหารย์ที่แสดงเป็นคู่ ๆ เป็นปาฏิหารย์ที่พระพุทธเจ้าทรงกระทำที่ต้นมะม่วงซึ่งเรียกว่า  คัณฑามพฤกษ์  คือทรงบันดาลท่อน้ำท่อไฟจากส่วนของพระกายเป็นคู่ ๆ กัน
ลาผนวช  =  มีความหมายาเดียวกับลาสิขา  คือลาสึก  ลาจากเพศสมณะ
สัตตสดกมหาทาน  =  การทำทานครั้งใหญ่โดยให้สิ่งของ 7 อย่าง  อย่างละ 700 ได้แก่  ช้าง  ม้า  รถ  สตรี  แม่โคนม  ทาสชาย  ทาสหญิง
อนุโมทนา  =  ยินดีตาม  ยินดีด้วย  พลอยยินดี
อานิสงส์  =  ผลแห่งกุศลกรรม  ผลบุญ  ประโยชน์
อาศรม  =  ที่อยู่ของนักพรต
วิเคราะห์คุณค่าวรรณคดี
          คุณค่าด้านวรรณศิลป์
          เนื่องจากเรื่องที่นำมาเรียนนี้เป็นเรื่องเล่าในลักษณะความเรียงจึงเป็นร้อยแก้ว  บรรยายโวหาร  ในส่วนที่หยิบยกมาเป็นตัวอย่างจากเนื้อเรื่องจริง  ได้ยกจากตอนพระอจุตฤาษีบอกเส้นทางไปเขาวงกตแก่ชูชก  ซึ่งได้พรรณนาโดยใช้คำอนังการ  และสัมผัสแพรวพราว  เช่น
          "แลถนัดในเบิ้องหน้าโน้น  ก็เขาใหญ่  ยอดเยี่ยมโพยมอย่างพยับเมฆ  มีพรรณเขียวขาวดำแดงดูดิเรก  ดั่งรายรัตนนพมหณีแนมน่าใคร่ชม  ครั้นแสงพระสุริยะส่งระดมก็ดูเด่นดั่งดวงดาว  วาวแวววะวาบ ๆ ที่เวิ้งวุ้ง  วิจิตรจำรูญรุ่งเป็นสีรุ้งพุ่งพ้นเพิ่งคัคนัมพรพื้นนภากาศ  บ้างก็ก่อเกิดก้อนประหลาดศิลาลายและละเลื่อม ๆ ที่งอกง้ำเป็นแง่เงื้อม..."
                                                                                                                                                                         (กัณฑ์ที่ 7 มหาพน)
          สำนวนที่มาจากเรื่องมหาเวสสันดรชาดกที่ใช้ในปัจจุบัน  เช่น
          ชักแม่น้ำทั้งห้า  หมายถึง  พูดจาหว่านล้อมด้วยคำยกยอ  ดังที่ชูชกจะกล่าวขอสองกุมารต่อพระเวสสันดรก็ได้พูดจาชักแม่น้ำทั้งห้า (คงคา ยมุนา อจิรวดี สรภู และมหิ)  มาเปรียบเทียบเสียก่อนแล้วจึงย้อนขอในภายหลัง
          ตีปลาหน้าไซ  หมายถึง  ตีหรือกระทุ่มน้ำตรงหน้าไซให้ปลาแตกตื่นหนีไปจากไซที่ดักไว้  เป็นการทำทำที่ขัดขวางผลประโยชน์ที่ควรมีควรได้อยู่แล้ว  เสมือนตอนที่ชูชกตีสองกุมารต่อหน้า  ทำให้พระเวสสันดรโกรธเคือง
          คุณค่าด้านแนวคิดและคติชีวิต
          1.  การทำบุญจะให้ทำเสร็จสมประสงค์ต้องอธิษฐานจิต  ตั้งเป้าหมายชีวิตที่ตนปรารถนาไว้  ความปรารถนาที่จะสำเร็จสมดังตั้งใจผู้นั้นต้องมีศีลบริบูรณ์กล่าวคือ
                     -  ต้องกระทำความดี
                     -  ต้องรักษาความดีนั้นไว้
                     -  หมั่นเพิ่มพูนความดีให้มากยิ่งขึ้น
          2.  การทำความดีต้องทำเรื่อยไป  ทุกชาติทุกภพต่อเนื่องไม่ขาดสาย
          3.  ในเรื่องมหาชาติได้แสดงตัวอย่างของพระชาติที่ยิ่งใหญ่ด้วยทศบารมี  เห็นตัวอย่างการบำเพ็ญบารมีอันยากยิ่งที่มนุษย์ปุถุชนธรรมดาจะทำได้
          4.  คุณค่าของมหาชาติเป็นเรื่องที่ประจักษ์ชัดในศรัทธาของพุทธศาสนิกชนมายาวนานตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย  ดังที่ปรากฏในจารึกนครชุม  ซึ่งถือว่าเป็นหลักฐานที่เป็นวรรณคดีลายลักษณ์อักษณ์ที่เก่าแก่ที่สุด
          5.  แสดงให้เห็นถึงความเชื่อ  ความศรัทธาในพระพุทธศาสนาที่อยู่คู่กับสังคมไทยจากอดีตจนถึงปัจจุบัน
          6.  สะท้อนให้เห็นถึงประเพณีทางศาสนาที่สำคัญเกี่ยวกับการทำบุญ  ฟังเทศน์มหาชาติให้จบวันเดียวครบบริบูรณ์ ทั้ง 13 กัณฑ์  เป็นเหตุให้สำเร็จความปรารถนาทุกประการดังนี้
                     -  เมื่อตายจากโลกนี้ไปแล้ว  จะมีโอกาสได้พบพระพุทธเจ้าพระนามว่า  ศรีริยเมตไตยในอนาคต
                     -  เมื่อดับขันธ์ไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์  จะเสวยทิพยสมบัติมโหฬาร
                     -  เมื่อตายไปแล้วจะไม่ตกนรก
                     -  เมื่อถึงยุคพระศรีอริยเมตไตย  จะได้จุติไปเกิดเป็นมนุษย์
                     -  เมื่อได้ฟังธรรมต่อหน้าพระพักตร์ของพระพุทธองค์  จะได้ดวงตาเห็นธรรม  เป็นพระอริยบุคคลในบวรพระพุทธศาสนา
          7.  มหาชาติใสนแต่ละท้องถิ่นมักจะแสดงให้เห็นถึงลักษณะวิถีชีวิต  ความเป็นอยู่  ความเชื่อได้อย่างชัดเจน
          มหาชาติ  หรือเวสสันดรชาดกมีคุณค่าทั้งด้านเนื้อความและด้านวรรณศิลป์เพราะแต่ละสำนวนเกิดขึ้นจากความเชื่อและความศรัทธาในพุทธศาสนา  ทั้งยังเป็นมรดกทางวัฒนธรรม  สำคัญของคนในท้องถิ่นที่ควรอนุรักษ์และสืบทอดต่อไป